
ปุ๋ยหมักมีกระบวนการผลิตหลายรูปแบบ แต่ระบบการเติมอากาศโดยใช้พัดลมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ต้นทุนต่ำ สามารถผลิตปุ๋ยหมัก 1.5 ตันได้ทุกเดือน โดยไม่ต้องเสียแรงในการกลับกองปุ๋ยหมัก
เป็นโรงหมักปุ่ยเติมอากาศที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย นายภัชญภณ หมื่นแจ้ง ผอ.กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม สร้างขึ้นมาในรูปแบบง่ายๆที่เกษตรกรสามารถทำได้เอง เป็นโรงเรือนขนาดกว้าง 1.1 ม. ยาว 1.4 ม. และสูง 1.0 ม.
โครงสร้าง เสา และคานทำด้วยไม้ยูคาฯ หลังคามุงด้วยสังกะสี ผนังกรุด้วยกระเบื้องแผ่นเรียบ พื้นโรงเรือนปูด้วยแผ่นพื้นสำเร็จ ตรงกลางเว้นช่องวางตะแกรงระบบเติมอากาศจากปั๊มลมขนาด 0.5 แรงม้า ที่มาทางท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ทั้งหมดนี้มีต้นทุนแค่ 5,800 บาท สามารถหมักปุ๋ยได้ 1.5 ตันต่อครั้ง
ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้ผลดี เป็นสูตรใช้มูลไก่ 200 กก. มูลสัตว์อื่นๆ 200 กก. ขุยมะพร้าว หรือเศษใบไม้ 100 กก. (สัดส่วน 2:2:1 โดยน้ำหนัก) จากนั้นเติมน้ำให้เปียกชุ่มจนสามารถปั้นเป็นก้อนได้ แต่เมื่อใช้หัวแม่มือกดจะแตกได้ง่าย จากนั้นจึงนำไปใส่ในซองหมักในโรงเรือนที่สร้างไว้จนเต็มเสมอขอบซองหมัก อย่าย่ำลงไปบนกองเพื่ออินทรีย์จะได้มีช่องว่างเหมาะสมให้อากาศสามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง
การเปิด-ปิดระบบเติมอากาศให้ทำวันละ 6 ครั้ง ครั้งละ 1 ชม. และเติมน้ำทุกๆ 7 วัน โดยการพ่นน้ำด้านบนกองให้ชุ่ม หรืออาจติดหัวสปริงเกอร์พ่นน้ำ เพื่อป้องกันผิวหน้ากองปุ๋ยหมักแห้ง ครบ 30 วัน ให้นำปุ๋ยออกมาวางกระจาย เป็นกองเล็กๆ ขนาดกว้าง 1.5 ม. สูง 50 ซม. ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ เพื่อรอให้ปุ๋ยหมักย่อยสลายสมบูรณ์อีก 30-45 วัน จึงนำไปใช้ได้
ผลการวิเคราะห์ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศด้วยวิธีนี้ นายภัชญภณ เผยว่า มีค่ากรด-ด่าง 6.5-8.32 ความชื้น 5.9-20% ไนโตรเจน 1.3-4.67% ฟอสเฟต 1.2-5.5% โพแตส 1.1-3.56% และโซเดียม 0-0.30% ปริมาณโลหะหนักต่ำกว่ามาตรฐาน โดยมีต้นทุนค่าไฟฟ้าในการเติมอากาศของปั๊มลมอยู่ที่เดือนละ 200-300 บาท
สนใจวิธีการสร้างโรงเรือนหมักปุ๋ยเติมอากาศ สอบถามได้ที่ ศวพ.มหาสารคาม 08-9712-0595, 08-1116-4338 นอกจากจะมีโรงหมักปุ๋ยขนาดเล็ก ต้นทุน 5,800 บาทแล้วยังมีขนาดกลางผลิตปุ๋ยหมักได้ครั้งละ 30 ตัน ค่าก่อสร้าง 200,000 บาท และขนาดใหญ่ 100 ตัน ต้นทุน 500,000 บาทด้วย
ที่มา https://www.thairath.co.th/content/577663