ปัจจุบันกระแสความใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ คนเราทุกคนย่อมต้องการให้ตัวเองและคนรอบข้างมีสุขภาพที่ดี อาหารที่รับประทานเข้าไปก็ต้องปราศจากสารที่จะเป็นอันตรายหรือปลอดสารพิษ ในสมัยก่อนคนเราได้อาหารจากธรรมชาติ เมื่อผลผลิตจากธรรมชาติเริ่มน้อยลง มนุษย์ก็ต้องปลูกพืชโดยปล่อยตามธรรมชาติก็สามารถให้ผลผลิตกับเราได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย
แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นการปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอ จึงต้องหาทางเพิ่มพื้นที่และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดและการปลูกพืชซ้ำพื้นที่เดิม ย่อมทำให้มีธาตุอาหารที่พืชดูดไปจากดินติดไปกับผลผลิตที่นำออกไปจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง หรือปุ๋ยที่มีอยู่เดิมในดินลดลง จนทำให้ปลูกพืชแล้วโตไม่ดีและผลผลิตต่ำ
ในสมัยก่อนเกษตรกรเห็นว่า พืชที่ขึ้นอยู่ใกล้คอกสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงได้นำมูลสัตว์ หรือ ปุ๋ยคอก มาใส่ให้กับพืช ปุ๋ยดังกล่าวได้มาจากสิ่งมีชีวิตจึงเรียกว่า ‘ปุ๋ยอินทรีย์’ ถ้าพื้นที่ปลูกไม่มากก็สามารถนำมูลสัตว์รวมทั้งเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยผุพังมาใส่ให้กับดินเพื่อชดเชยให้กับส่วนที่ติดไปกับผลผลิตพืชได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ก็ยากที่จะหาแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอได้ จึงมีการนำวัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืชทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือนำวัสดุจากแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด มาทำปฏิกิริยากันทางเคมีได้เป็นสารประกอบที่ให้ธาตุอาหารพืช และเรียกปุ๋ยประเภทนี้ว่า ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสารที่ให้ธาตุอาหารพืชปริมาณมากและพืชนำไปใช้ได้ง่าย
ด้วยชื่อ ปุ๋ยเคมี จึงทำให้มีคนเข้าใจว่าจะเป็นอันตรายและถ่ายทอดความรู้ที่คลาดเคลื่อนไปสู่คนทั่วไป จนทำให้ดูน่ากลัวเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ดินเสื่อมและเป็นอันตรายกับผู้บริโภคพืชที่ใส่ปุ๋ยเคมี ทั้ง ๆ ที่ ปุ๋ยเคมี คือ อาหารของพืช ไม่ใช่สารพิษอย่างที่เข้าใจ ไม่ว่าจะใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ ธาตุอาหารในปุ๋ยต้องเปลี่ยนเป็นรูปที่ละลายได้ง่ายเหมือนกันพืชจึงดูดไปใช้ได้ ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่าง เมื่อเข้าใจแล้วก็จะทำให้นำปุ๋ยทั้งสองประเภทนี้มาใช้เพื่อผลิตอาหารให้ปลอดภัยและเพียงพอ ตลอดจนรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารได้ตลอดไป
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชและความจำเป็นในการใช้ปุ๋ย
พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงต้องปลูกในสภาพที่มีปัจจัยที่พืชต้องการอย่างเหมาะสม คือ ต้องมีแสงแดด อากาศ น้ำ และต้องมีธาตุอาหารที่จำเป็น ต่อพืชอย่างครบถ้วน เพื่อให้พืชนำไปสร้างอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ได้เป็นน้ำตาลและถูกนำไปใช้ในกระบวนการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้กับมนุษย์
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชเป็นธาตุที่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถจะใช้สิ่งอื่นทำหน้าที่แทนได้ และถ้าพืชได้รับไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตได้ และในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับโดยนักวิชาการธาตุอาหารพืชทั่วโลกว่ามีทั้งหมด 17 ธาตุ (ก่อนปี พ.ศ. 2530 ยอมรับเพียง 16 ธาตุ) บางธาตุพืชต้องการมาก ในขณะที่บางธาตุพืชต้องการเพียงเล็กน้อยก็พอ ในประเทศไทยได้แบ่งธาตุอาหารพืชเป็น 3 กลุ่ม คือ
- ธาตุอาหารหลัก ซึ่งพืชต้องการมากและดินทั่วไปมักมีไม่พอกับความต้องการของพืช
- ธาตุอาหารรอง ซึ่งพืชต้องการมาก แต่ดินโดยทั่วไปมักมีพอ
- ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ ซึ่งพืชต้องการน้อยแต่ก็จำเป็นและดินทั่วไปมักมีอย่างเพียงพอ
ในความเป็นจริงแล้ว ธาตุทุกธาตุทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีความสำคัญกับพืชเท่าเทียมกัน ไม่ได้เป็นแค่ธาตุรองหรือธาตุเสริม ดังนั้นพืชต้องได้รับทุกธาตุอย่างเพียงพอ และถ้ามีไม่พอจะต้องเพิ่มให้กับพืชในรูปของ ปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ธาตุอาหารพืช
ในดินดีหรือดินที่มีธาตุอาหารสูงสามารถจะปลูกพืชและพืชเจริญเติบโตดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเหมือนที่ปฏิบัติกันในอดีต แต่เมื่อธาตุอาหารในดินลดลงเรื่อย ๆ โดยไม่เติมเข้าไปชดเชย หรือชดเชยน้อยกว่าที่นำออกไป สักวันหนึ่งธาตุอาหารก็จะมีไม่พอกับความต้องการของพืช ซึ่งแก้ได้โดยการใส่วัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืช ดังนั้น ถ้าจะรักษาธาตุอาหารในดินให้คงอยู่เท่าเดิมก็ต้องคืนธาตุอาหารให้กับดินเท่ากับที่ติดไปกับผลผลิต ถ้าคืนกลับไปน้อย ธาตุอาหารในดินก็ลดลงเรื่อย ๆ หรือดินเสื่อมลง นาน ๆ เข้าย่อมจะไม่พอและส่งผลให้พืชโตได้ไม่ดี ผลผลิตก็ลดลง การใส่ปุ๋ยจึงเป็นการบำรุงดิน เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับพืช
การปลูกพืชต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและปุ๋ยอย่างถูกต้อง
ปุ๋ย เป็นสิ่งที่เกิดเองธรรมชาติหรือผลิตขึ้น เพื่อให้ธาตุอาหารพืช โดยถ้าองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์ เรียกว่า ‘ปุ๋ยอินทรีย์’ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยทำให้ดินร่วนซุย ดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดี และมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชครบทุกธาตุแต่ปริมาณน้อย
สำหรับในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ให้ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุตามธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การปลูกปอเทืองบำรุงดินและหลีกเลี่ยงการนำเศษซากพืชออกไปจากพื้นที่ รวมทั้งต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปริมาณมากเพื่อคืนธาตุอาหารให้กับดินไม่น้อยกว่าที่ติดไปกับผลผลิต ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดเล็กก็คงสามารถหาแหล่งวัสดุอินทรีย์ได้ไม่ยาก สามารถจะหาปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น มูลค้างคาว มูลนกนางแอ่น มาใส่ให้ได้ธาตุอาหารเพียงพอ
“ปุ๋ย” คือ อาหารของพืชที่เมื่อพืชได้รับไปแล้ว จะทำให้พืชผักผลไม้เจริญงอกงามนั่นเอง การทำเกษตรอินทรีย์ก็ต้องใช้ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้สิ่งอื่นเช่นกัน ต้องเป็นปุ๋ยที่มาจากธรรมชาติเท่านั้นซึ่งจะต้องปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและจนส่งถึงมือผู้บริโภค ผลผลิตที่เราปลูก เราเองก็ต้องทานได้เช่นกัน
การทำปุ๋ยไว้ใช้เองโดยที่ไม่พึ่งพาสารเคมีทำให้เรามั่ยใจได้ว่าปุ๋ยที่เราใส่บำรุงพืชผักที่เราปลูกจะปลอดภัยแน่นอน ซึ่งการทำปุ๋ยนี้นอกจากจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดภัยแล้วเรายังสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมยามว่างร่วมกันภายในครอบครัว หรือในชุมชนได้อีกด้วย การทำปุ๋ยโดยมีหลักการคือ เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช และให้พืชเลี้ยงเรา
วันนี้จะมาแชร์วิธีทำปุ๋ยหมักให้มีสารอาหารเทียบเคียงปุ๋ยเคมีในสูตรต่าง ๆ จะดีกว่าไหมถ้าเรามีปุ๋ยหมักไร้สารเคมีเป็นพิษต่อเกษตรและผู้บริโภค แทนที่จะใช้ปุ๋ยเคมี สูตรต่าง ๆที่ราคาแพงและเป็นอันตราย จึงได้นำเอาวิธีหมักปุ๋ย ให้ได้สารอาหารตรงกับปุ๋ยเคมีในสูตรต่าง ๆ ทำไม่ยากและมีราคาที่ถูกกว่าซื้อปุ๋ยเคมีแน่นอน
1. ปุ๋ยหมักสูตร 16-16-16
คุณสมบัติ
บำรุงทุกอย่างของต้นไม้ ต้น ดอก ผล
ส่วนประกอบ
- ดินดี 1 ส่วน
- แกลบดิบ 1 ส่วน
- รำอ่อน 1 ส่วน
- แกลบดำ 1 ส่วน
- มูลสัตว์ 1 ส่วน
- พืชตระกูลถั่ว 1 ส่วน
2. ปุ๋ยหมักสูตร 16-20-0
คุณสมบัติ
เพิ่มรสชาติให้พืชผัก พืชเขียวนาน
ส่วนประกอบ
- รำอ่อน 1 ส่วน
- ดินดี 2 ส่วน
- แกลบดิบ 4 ส่วน
- แกลบดำ 4 ส่วน
วิธีการผสมปุ๋ยสองชนิดนี้
- นำส่วนผสมทั้งหมด นำมาผสมแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยยกเว้นรำขาวไว้
- ทำการเกลี่ยส่วนผสมออกให้เป็นวงกลมแล้วนำน้ำหมักราดลงบนกองผสมปุ๋ยให้ทั่ว ความชื้นประมาณ 60% วิธีการผสมน้ำหมัก คือกากน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำหมัก 2-8 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำประมาณ 20 ลิตร
3. การผลิตปุ๋ยหมักสูตร 46-0-0
คุณสมบัติ
ให้ไนโตรเจนแก่พืชสูง เร่งการเจริญเติบโตของ ต้น และใบ
ส่วนประกอบ
- รำ 1 กระสอบ
- มูลไก่ 1 กระสอบ
- แกลบดิบ 1 กระสอบ
- ขี้ค้างคาว 6 กิโลกรัม
- น้ำหมักชีวภาพ พด. 2
- กากน้ำตาล
วิธีการผสมปุ๋ยสูตร 46-0-0
- นำรำ แกลบดิบ ขี้ค้างคาว ขี้ไก่ ผสมคนให้เข้ากัน
- จากนั้นนำน้ำหมักชีวภาพ และกากน้ำตาล ราดลงบนกองผสมปุ๋ย ให้มีความชื้น 60%
- นำปุ๋ยที่ได้ใส่กระสอบตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม เมื่อครบ 7 วันให้เปิดถุงกระสอบ ระบายความร้อนทิ้งไว้เป็นเวลา 1 คืนก็สามารถนำไปใช้ได้
ที่มา : https://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=965&s=tblplant , http://www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/eco-farming-for-our-food/eco-fertilizer/ , https://mgronline.com/daily/detail/9610000092155